thaipost

วิตกกังวล-ซึมเศร้า-แพนิค ครองแชมป์ปัญหาสุขภาพจิตในที่ทำงาน

ความเครียดและความวิตกกังวลในที่ทำงานเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยพนักงาน 40% ระบุว่าได้รับผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานในปีที่ผ่านมา อินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส บริษัทด้านสุขภาพและความปลอดภัยระดับโลก จึงเรียกร้องให้องค์กรต่างๆ ร่วมมือกันจัดการปัญหาสุขภาพจิตของพนักงาน เนื่องในวัน Blue Monday วันที่ 20 มกราคม ซึ่งถือเป็นวันที่มีความท้าทายด้านสุขภาพจิตมากที่สุดวันหนึ่ง

วิตกกังวล-ซึมเศร้า-แพนิค ครองแชมป์ปัญหาสุขภาพจิตในที่ทำงาน

ปัญหาสุขภาพจิตที่พนักงานทั่วโลกขอความช่วยเหลือมากที่สุดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า และโรคแพนิค โดยการทำงานที่มีความหมายสามารถช่วยฟื้นฟูและส่งเสริมการอยู่ร่วมกันในสังคมได้ดีขึ้น รวมถึงเพิ่มความมั่นใจและทักษะทางสังคม งานวิจัยระบุว่าการได้ทำงานส่งผลดีต่อสุขภาพจิตมากกว่าการรักษาทางจิตเวชแบบดั้งเดิมเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม ความเครียดที่สะสมอาจนำไปสู่ภาวะหมดไฟและส่งผลกระทบต่อความมั่นใจ ความพึงพอใจ และโอกาสความสำเร็จในการทำงาน

นพ.โรดริโก โรดริเกซ-เฟอร์นันเดซ ที่ปรึกษาด้านสุขภาพระดับโลกของบริษัท กล่าวว่าเดือนมกราคมเป็นช่วงที่ท้าทาย ทั้งภาวะหดหู่หลังเทศกาล การกลับสู่งานปกติ และสภาพอากาศหนาวในซีกโลกเหนือ ส่งผลต่อสุขภาพจิตของพนักงาน Blue Monday จึงเป็นโอกาสให้องค์กรร่วมจัดการปัญหาสุขภาพจิตอย่างจริงจังตลอดทั้งปี

อินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส แนะนำ 5 กลยุทธ์เชิงรุกในการจัดการความเครียดของพนักงาน ได้แก่ 

  1. สนับสนุนวัฒนธรรมการเปิดใจและช่วยเหลือกัน 
  2. สร้างสมดุลชีวิตการทำงานและส่วนตัวผ่านนโยบายที่ยืดหยุ่น 
  3. ประเมินความเครียดสม่ำเสมอเพื่อให้ความช่วยเหลือตรงจุด 
  4. จัดโปรแกรมช่วยเหลือพนักงานที่เข้าถึงง่าย 
  5. ฝึกอบรมผู้จัดการให้สามารถสังเกตและช่วยเหลือพนักงานที่มีปัญหาสุขภาพจิตได้