ไทยโพสต์

GDEC 2025 ณ กรุงปักกิ่ง เปิดเวทีถกความร่วมมือเศรษฐกิจดิจิทัลโลก

การประชุมความร่วมมือเศรษฐกิจดิจิทัลโลก (Global Digital Economy Collaboration Forum) ซึ่งเป็นกิจกรรมสำคัญของงานการประชุมเศรษฐกิจดิจิทัลโลก ประจำปี 2568 (GDEC 2025) จัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2568 ณ กรุงปักกิ่ง ภายใต้แนวคิด “Sail Together, Thrive Together” โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ ส่งเสริมนวัตกรรมความร่วมมือ สร้างศูนย์กลางความร่วมมือทางอุตสาหกรรม และพัฒนารูปแบบบริการสำหรับองค์กรเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อก้าวสู่สากล

งานนี้มีแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมคับคั่ง อาทิ จ้าว โหวหลิน ประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มพันธมิตรเมืองเศรษฐกิจดิจิทัลโลก และอดีตเลขาธิการ ITU, ฟรานซิส เกอร์รี ประธานกลุ่มพันธมิตรเมืองเศรษฐกิจดิจิทัลโลก และอดีตผู้อำนวยการใหญ่ WIPO, เฉียว จ้าน รองผู้แทน UNDP ประจำจีน และ ไมเคิล แคมป์เบลล์ ฮุกเกอร์ เอกอัครราชทูตนิการากัวประจำจีน นอกจากนี้ ยังมีผู้แทนกว่า 800 คนจากองค์กรดิจิทัลชั้นนำ เช่น IBM, Thales และ Yonyou

การประชุมครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่เน้นประเด็นโลกาภิวัตน์และความร่วมมือระหว่างประเทศในเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมีการหารือเชิงลึกในหัวข้อสำคัญต่าง ๆ ได้แก่ “โอกาสของการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในตลาดเกิดใหม่”, “การส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านองค์กรระหว่างประเทศ” และ “การก้าวสู่สากล: แนวปฏิบัติขององค์กรดิจิทัลจีน” ผู้แทนจาก WIPO, สถานทูตมาเลเซีย, สถาบันการศึกษาอินโดนีเซีย, CAICT และองค์กรอื่น ๆ ได้ร่วมแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกในหลากหลายมิติ ทั้งด้านนโยบาย อุตสาหกรรม และนวัตกรรม

ภานในงานมีการลงนามในโครงการสาธิตนวัตกรรมเศรษฐกิจดิจิทัลที่เป็นมิตรและยั่งยืนในปักกิ่งของ UNDP โดยผู้แทน 4 ฝ่าย ได้แก่ UNDP, ศูนย์แลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและเทคนิคระหว่างประเทศของจีน, สำนักเศรษฐกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศเทศบาลกรุงปักกิ่ง และรัฐบาลประชาชนเขตต้าซิง

นอกจากนี้ ศูนย์บริการนวัตกรรมสำหรับองค์กรเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อก้าวสู่สากลประจำกรุงปักกิ่ง ยังได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับ 16 องค์กรชั้นนำ อาทิ China Silk Road Group, China Digital Culture Group และ Global Infotech ด้วยมูลค่ารวมกว่า 1 หมื่นล้านหยวน

งานนี้ยังถือเป็นการเปิดตัว กลุ่มพันธมิตรระหว่างประเทศด้านบริการเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อก้าวสู่สากล อย่างเป็นทางการ โดยสมาชิกกลุ่มแรกประกอบด้วยสมาคมธุรกิจในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนบริษัทที่ติดอันดับ Fortune 500 รวม 24 แห่ง เช่น สมาคมวิสาหกิจสหภาพยุโรป-จีน, ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศจีน, China Telecom, Li Auto และ KPMG